Saturday, July 12, 2014

กระเป๋าสตางค์หนึ่งใบ กับนิสัยของคนมั่งคั่ง

วิธีใช้กระเป๋าสตางค์ให้เรียกทรัพย์ ความลับที่รู้กันเฉพาะในหมู่เศรษฐีชาวญี่ปุ่น ! 


     ชาวญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีความปราณีตและพิถีพิถันในการใช้ชีวิต ผมชอบอ่านบทความหรือหนังสือที่บอกเล่าวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น หรือหนังญี่ปุ่นเองก็ตาม ล้วนมีสเน่ห์แบบเอเชียที่น่าติดตาม

     ล่าสุด เมื่อวานผมได้ซื้อหนังสือมาอ่านเล่มหนึ่งชื่อว่า "ชีวิตมั่งคั่ง ด้วยกระเป๋าสตางค์ใบเดียว" จากชื่อที่เห็นผ่านตา ค่อนข้างแน่ใจว่าต้องเป็นของผู้เขียนชาวเอเชีย (ไม่เกาหลีก็ญี่ปุ่น) เพราะสังเกตุดูว่าหนังสือแนวคิดหรือหนังสือแนว ฮาว-ทู (How to) ของฝั่งฝรั่ง ชื่อจะไม่ใช่แนวนี้ จะออกแนวๆ 8 ข้อสู่ชีวิตที่ดี , 15 นิสัยเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง  

     เนื้อหาข้างใน หลังจากอ่านแล้วน่าสนใจและมีประโยชน์มาก อ่านรวดเดียวจบ ขอสรุปคร่าวๆเป็น blog ครั้งนี้ครับ

     ตัวหนังสือว่าด้วยผู้เขียนชาวญี่ปุ่นชื่อ คะเมะดะ จุนอิชิโร เมื่อก่อนเขาเป็นพนักงานบริษัทในญี่ปุ่นและได้ออกมาทำอาชีพผู้ตรวจสอบบัญชีแบบอิสระ ซึ่งชีวิตผู้ตรวจสอบบัญชีของเขามีโอกาสพบปะผู้คนมากมาย โดยเฉพาะคนมั่งคั่งซึ่งเขาสังเกตว่า คนมั่งคั่งกับคนทั่วไปมีกระเป๋าสตางค์และลักษณะการใช้เงินที่ต่างกัน ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะมีปัจจัยอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเงินในกระเป๋า (ประกอบกับภรรยาของเขาซื้อกระเป๋าสตางค์ใหม่มาให้พอดี เป็นกระเป๋าผู้ชายทรงยาวยี่ห้อหลุยส์ วิตตอง หนังไทก้า) ซึ่งจากประการณ์ของผู้เขียน ได้เรียบเรียงออกมาดังนี้

1.หากคุณเป็นคนที่เก็บเงินไม่อยู่ ให้ลองเริ่มต้นจากการลองเปลี่ยนกระเป๋าสตางค์
     กระเป๋าสตางค์เป็นสิ่งที่สะท้อนรูปแบบการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสิ่งที่แสดงท่าทีของคนนั้นที่มีต่อเงิน กระเป๋าสตางค์ที่ดีทำให้ท่าทีที่คนมีต่อเงินเปลี่ยนไปมากมาย (อันนี้เจ้าของบล๊อกสัมผัสเองกับตัว ตอนซื้อกระเป๋าสตางค์ใหม่เมื่อต้นปี) สิ่งที่ผู้เขียนสังเกตได้คือ 

"กระเป๋าสตางค์ของเจ้าของบริษัททั้งหลายที่ทำเงินได้อย่างมั่นคงมานานหลายปี 
ล้วนใช้กระเป๋าสตางค์สวย และส่วนมากจะเป็นกระเป๋าทรงยาว"

2.กฏ 200 เท่า ในการเพิ่มรายได้จากกระเป๋าสตางค์

ราคากระเป๋าสตางค์ x 200 = รายได้ประจำปีของเจ้าของกระเป๋าสตางค์

หากใช้กระเป๋าสตางค์ราคา 20,000  รายได้ต่อปีจะเท่ากับ 4,000,000 ต่อปี (ราว 300,000/เดือน)
หากใช้กระเป๋าสตางค์ราคา 8,000  รายได้ต่อปีจะเท่ากับ 1,600,000 ต่อปี (ราว 130,000/เดือน)
หากใช้กระเป๋าสตางค์ราคา 3,000  รายได้ต่อปีจะเท่ากับ 600,000 ต่อปี (ราว 50,000/เดือน)

     กฏข้างต้น ดูเผินๆอาจจะไม่ค่อยสมเหตุสมผล แต่เท่าที่ผมคิดดูจะมีความเกี่ยวข้องเชิงจิตวิทยา ซึ่งผู้เขียนได้บอกว่า จากที่พบเห็นกระเป๋าสตางค์ของผู้มั่งคั่งทั้งหลาย ล้วนสอดคล้องกับกฏนี้ แต่ไม่สามารถอธิบายตามหลักเหตุผลได้อย่างชัดเจน  ซึ่งเท่าที่ผมวิเคราะห์ดูเอง(อ้างอิงจากหลักการของ Brian tracy ในหนังสือ ขายด้วยใจ) น่าจะเกี่ยวข้องกับระดับความคาดหวังสูงสุดต่อเงินรายได้ที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่น ผู้ที่เชื่อว่าตนเองมีรายได้สูงสุดในชีวิต 30,000 แล้วพอใจ หากวันหนึ่งตัวเองมีรายได้มากกว่านั้นขึ้นมา จิตใต้สำนึกจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดเงินส่วนเกินนั้นออกไปเช่น การออกไปช๊อปปิ้ง การใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย หรืออื่นๆ เพื่อให้ระดับรายได้กลับมาอยู่ในจุดที่สบายใจ ซึ่งระดับรายได้คาดหวังสูงสุดของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน และที่น่าแปลกคือเศรษฐีทั้งหลายต่างมีรายได้ที่คาดหวังในใจสูงมาก เป็นร้อยล้าน พันล้าน ซึ่งจากเหตุผลนี้สามารถอธิบายถึงเรื่องราวของสำนวนสามล้อถูกหวยได้ เช่นกัน
     ดังนั้น การที่เปลี่ยนกระเป๋าสตางค์ที่มีราคาสูงขึ้น น่าจะเกี่ยวข้องกับความคาดหวังต่อรายได้ระดับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะกระเป๋าสตางค์เป็นสิ่งที่ไกล้ชิดกับเงินที่สุด และคนที่ยอมกัดฟันซื้อกระเป๋าสตางค์ราคาสูง น่าจะต้องใช้การตัดสินใจอย่างหนักแน่นอน 

3.คนหาเงินเก่งล้วนใช้กระเป๋าสตางค์ทรงยาว
     แนวคิดหลักๆของเรื่องนี้คือ การมองกระเป๋าสตางค์เป็นสถานที่ต้อนรับเงินของเรา ซึ่งถ้ามองแบบนั้น (ตามมุมมองของผู้เขียน) กระเป๋าสตางค์ที่เหมาะกับการต้อนรับเงินคือแบบทรงยาว เพราะมีรูปทรงที่ดีต่อเงินและธนบัตรเป็นพิเศษ  ซึ่งเวลาเราได้ธนบัตรใหม่มา กระเป๋าสตางค์ทรงยาวสามารถรักษารูปทรงให้คงสภาพไว้ได้ ไม่เป็นรอยพับ
     นอกจากนั้น ผู้ชายส่วนใหญ่ยังชอบใส่กระเป๋าสตางค์แบบพับไว้ในกระเป๋าหลังกางเกง แต่ถ้าใช้แบบทรงยาวจะใส่ข้างหลังไม่ได้ เพราะจะทำให้นั่งไม่ถนัด เพราะฉะนั้น เงินจึงไม่โดนนั่งทับ 
      ถ้าเปรียบให้เงินของเราเป็นแขกวีไอพี ที่ใครก็อยากต้อนรับ ให้เขาเข้าพักที่โรงแรมก็คงเข้าพักในโรงแรมระดับห้าดาวที่สะดวกสบาย 

4.กระเป๋าสตางค์ต้องห้าม
     กระเป๋าสตางค์แต่ละใบมีเอกลักษณ์ที่เรียกว่า "ทรงกระเป๋าสตางค์" แบบเดียวกับโครงหน้าหรือลายนิ้วมือของมนุษย์
     กระเป๋าสตางค์ที่เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับคนมั่งคั่งเลยนั่นก็คือ กระเป๋าที่มีด้ายหลุดลุ่ย ลวมเป่งเพราะสลิปหรือใบเสร็จต่างๆ สีหรือความเงาผิดเพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งดูแล้วไม่มีพลังเรียกทรัพย์
     อีกเรื่องคือการใส่นามบัตรไว้ในกระเป๋าสตางค์ เป็นสิ่งต้องห้ามที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งกระเป๋าสตางค์เป็นที่เกี่ยวข้องกับเงินโดยตรง สำหรับนามบัตร เรามีที่ใส่นามบัตร อยู่แล้ว การที่เรายื่นนามบัตรที่ปนคราบของธนบัตรให้ผู้อื่น ถือเป็นเรื่องเสียมารยาท ซึ่งคนที่ไม่ใส่ใจเรื่องนี้ จะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีในการทำธุรกิจได้
     กล่าวสรุปคือ เงินจะไม่เข้าไกล้กระเป๋าสตางค์ที่มีรูปทรงไม่ดี เช่นเดียวกับคนรอบข้างที่ไม่อยากเข้าไกล้คนที่ไม่ดูแลตัวเอง

5. ใส่เงินจำนวนมากในกระเป๋าสตางค์ที่ซื้อมาใหม่
     เมื่อซื้อกระเป๋าสตางค์ใบใหม่มา สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกก่อนจะใช้งานเลยก็คือ "การให้กระเป๋าสตางค์ได้จดจำรสชาติของเงิน"
     พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือเอาเงินก้อนโต (ในที่นี้ขอตีซักประมาณ 500,000 บาทจากต้นฉบับใช้คำว่า 1,000,000 เยน ) ใส่ไปในกระเป๋าสตางค์ก่อนเริ่มใช้งานประมาณ 3 วัน
     เหตุผลก็คือเงินย่อมรู้สึกสบายใจกับการที่ได้อยู่ในกระเป๋าที่ได้ใช้งานมาสักพักแล้ว มากกว่าอยู่ในกระเป๋าสตางค์ใหม่เอี่ยม เช่นเดียวกับกรณีอื่นเช่นรองเท้ากีฬา เท้าเราก็จะคุ้นเคยกับคู่ที่ใส่บ่อยและไม่ค่อยโดนกัด มากกว่ารองเท้าคู่ใหม่ที่ยังไม่เคยใส่เลย
     สำหรับเงิน กระเป๋าสตางคก็เหมือนกับบ้าน เงินจะเข้ากับกระเป๋าที่ผ่านการใช้งานมาบ้างได้ดีกว่ากระเป๋าสตางค์ใหม่เอี่ยม และถ้าคุณใส่เงินล่วงหน้าให้กระเป๋าสตางค์ใบนั้นคุ้นเคย คุณจะสามารถใช้กระเป๋าสตางค์ใบนั้นได้ถนัดมือจริงๆ  
     เทคนิคเล็กๆน้อยๆ ก็คือตอนที่เอาเงินใส่ไปแล้ว ให้กระซิบบอกกระเป๋าสตางค์เบาๆว่า "ความหนา กลิ่นและสัมผัสของเงิน 500,000 บาทเป็นแบบนี้นะ จำไว้ให้ดีๆล่ะ ! " 

6.หันหัวธนบัตรไปทางเดียวกัน
     ผู้เขียนหนังสือได้บอกไว้ว่า หลังจากที่เขาได้ทำตามวิธีใช้กระเป๋าสตางค์ของคนมั่งคั่งมาหลายคน ก็เริ่มจับสังเกตได้ว่า เงินนั้น รักความสะอาด ต้องไม่มีคราบรอยนิ้วมือ และธนบัตรกับบัตรต่างๆต้องถูกจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบสวยงาม
     เทคนิคนี้กล่าวไว้ว่า ให้ใส่ธนบัตรโดยหันหัวของธนบัตรลง เพราะว่าการทำแบบนี้ช่วยให้ "ใส่ธนบัตรง่าย แต่หยิบยาก" ซึ่งก็มีเรื่องเล่าของความเชื่อนี้อยู่บ่อยๆ
     แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายๆคนกล่าวว่าให้เอาด้านหัวขึ้นนั้นดีกว่า ซึ่งก็ไม่ได้มีหลักการตายตัวอะไรจะใส่แบบไหนก็ได้เหมือนกัน สำคัญคือ ให้หันไปทางเดียวกันและเป็นระเบียบก็พอ

7.ชำระเงินด้วยธนบัตรใหม่
  
   "ขอโทษด้วยนะที่ใช้ธนบัตรเก่า"
   นี่คือคำพูดติดปากของคนมีตังค์

     ภรรยาของผู้เขียนนั้น อยู่ในธุรกิจบริการซึ่งได้พบเจอบรรดาคุณหญิง สุภาพสตรีหรือไฮโซทั้งหลายคำพูดติดปากของคนเหล่านั้นเวลาไม่มีธนบัตรใหม่คือ "ขอโทษด้วยที่ใช้แบงค์เก่า" ซึ่งทุกครั้งที่ภรรยาของผู้เขียนได้ยิน ต้องคิดว่าคนคนนั้นต้องเป็นเศรษฐีแน่ๆเลย
     มีเศรษฐีท่านนึงได้ให้เหตุผลของเรื่องนี้ไว้ว่า 

"ถ้าคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายรับเงิน เขาคงจะดีใจที่ได้รับธนบัตรใหม่มากกว่า"

     เวลาที่เขาได้รับธนบัตรใหม่ที่ไม่มีรอยยับจะรู้สึกดีใจมากกว่าได้รับธนบัตรที่มีรอยพับครึ่ง หรือธนบัตรที่ผ่านการใช้งานมาอย่างสมบุกสมบัน เปรียบได้กับความรู้สึกเวลาสอดแขนเข้าไปในเสื้อเชิ๊ตที่เพิ่งซักมาใหม่ๆและรีดจนเรียบกริบ
     ท่าทีที่มีต่อเงิน สะท้อนถึงท่าทีของคนๆนั้นที่มีต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งพวกคนมีตังค์มักจะใส่ใจคนอื่น ไม่ได้นึกถึงแค่เรื่องตัวเองแต่ยังนึกถึงผู้ที่เป็นฝ่ายรับเงินด้วย
     


     ทั้ง 7 ข้อข้างต้น ได้สรุปออกมาจากหนังสือ ซึ่งจริงๆแล้วยังมีรายละเอียดเชิงลึกอยู่อีกมาก หยิบออกมาเฉพาะในส่วนที่เข้าใจง่ายและสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทยและนำไปปรับใช้ได้ง่ายๆ ซึ่งผมมองดูแล้วจะเป็นเรื่องของความพิถีพิถันในการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่น และได้ใช้กระเป๋าสตางค์เป็นกุศโลบายในการฝึกให้ผู้คนมีความละเอียดรอบคอบ รักสะอาดและมีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องเงินๆทองๆ ซึ่งผมเชื่อว่าหากนำไปปฏิบัติ ก็สามารถมีรายได้ที่มากขึ้นดังที่ผู้เขียนหนังสือได้กล่าวไว้อย่างแน่นอน เพราะเป็นการพัฒนาตัวเองรูปแบบหนึ่ง คนที่จะสามารถตรวจสอบกระเป๋าสตางค์ตัวเองทุกวันได้ ย่อมเป็นคนมีวินัยและมีความละเอียดละออ ซึ่งเป็นลักษณะของผู้สำเร็จในทุกๆสาขาอาชีพ


No comments:

Post a Comment